ประวัติ วัดละหาร

วัดละหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗ หมู่ที่ ๒ ซอยเทศบาล ๔ ถนน บางกรวย - ไทรน้อย ตำบลโสนลอย (เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลบางรักใหญ่เขต ๑) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อาณาเขตทิศเหนือติดที่ดินของนายขรรค์ชัย ฤทธิ์ตรีคูณ ทางทิศใต้ติดคลอง บ้านกล้วย ทิศตะวันออกติดคลองบางบัวทอง ทิศตะวันตกติดถนนบางกรวย – ไทรน้อย


ประวัติความสำคัญ

     เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๓๒๑ ซึ่งเป็นสมัยปลายแผ่นดินของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เกิดศึกเวียงจันทร์ ไทยได้ยกทัพไปตีเวียงจันทร์ โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพไทยตีได้เวียงจันทร์และหลวงพระบาง จึงได้กวาดต้อนผู้คนเข้ามาไว้ในหัวเมืองชั้นในเป็นอันมาก ในการทำศึกครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยังได้อัญเชิญ พระแก้วมรกต(พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) และพระบาง มาประดิษฐานไว้ ณ กรุงธนบุรีด้วย
     ครั้งนั้น หัวเมืองชั้นในก็คือหัวเมืองที่อยู่รายรอบเมืองหลวง บรรดาเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมาเหล่านี้จะถูกแบ่งปันให้ไปการตัดกำลังข้าศึกในสมัยก่อนนิยมทำกันมากคือ การกวาดต้อนผู้คนไปไว้กับฝ่ายตนซึ่งเป็นฝ่ายชนะ เช่น คนไทยอิสลามที่บางบัวทอง ได้กวาดต้อนมาจากภาคใต้จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือหมู่บ้านพรวนของเวียงจันทร์ที่เรียกว่า “ลาวพรวน” จากการกวาดต้อนมาจากเวียงจันทร์ หรือแถบคลองเขมร อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งมีชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่การทำศึกสงครามตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์
     อยู่กับพวกขุนนางผู้ใหญ่บ้าง ซึ่งขุนนางเหล่านี้จะถือศักดินา มีที่ดินเป็นจำนวนมาก เชลยศึกเหล่านี้ก็จะเป็นแรงงานสำหรับทำนาของขุนนางเหล่านั้น โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าจ้างบ้าง เป็นที่อยู่อาศัยบ้าง ต่อมาชาวลาวเหล่านี้ได้รับความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศล วัดที่สร้างขึ้นนี้ยังไม่มีชื่อเป็นทางราชการ เพียงแต่เรียกกันว่า “วัดลาว” เจ้าอาวาสรูปแรก ไม่ปรากฏหลักฐานชื่อและฉายาอะไร วัดละหารในสมัยนั้นสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยกลางรัชกาลที่ ๑ ถึงต้นรัชการที่ ๒ ต่อมาภายหลังได้ค้นพบหลักฐานโดยมีชื่อปรากฏในหน้าปัดนาฬิกาโบราณเรือนหนึ่งเขียนไว้ว่า ชื่อวัดราชบัญหาร มีหนังสือเขียนปรากฏ ณ หน้าปัดนาฬิกาว่า

     “พุทธศักราชได้ ๒๔๔๕ จุลศักราชได้ ๑๒๖๕ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ ข้าพเจ้านายพงษ์ ได้สละทรัพย์จัดซื้อนาฬิกาถวายไว้ในอารามมีชื่อว่า “ราชบัญหาร” เป็นของสำหรับอุโบสถของสงฆ์ ณ วันที่ ๒๖ วันอาทิตย์ เดือนตุลาคม ตรงกับเดือน ๑๑ แรมสิบค่ำ ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จพระนิพพานปัจจโย โหตุ”

     จะเห็นได้ว่าปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ซึ่งตรงกับ รัชการที่ ๕ แต่เหตุใดชื่อวัดจึงได้เปลี่ยนมาเป็น “วัดละหาร” ดังเช่นทุกวันนี้ได้ เพราะชื่อวัดราชบัญหาร ก็ฟังดูไพเราะดีอยู่แล้ว หรืออาจจะมีการเรียกเพี้ยนมาเป็นวัดละหารเมื่ออยู่นานวันเข้า อีกประการหนึ่ง ท้องที่แถบย่านบ้านนี้เป็นที่ลุ่ม อาจจะเรียกตามสภาพของที่ซึ่งเป็นอยู่ว่าห้วยละหาร ต่อมาคำว่า “ห้วย” หายไป เหลือแต่ “ละหาร” เพราะสั้นและเรียกง่ายดี จึงเป็นวัดละหารดังเช่นปัจจุบัน
     วัดละหารได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ สำหรับพระภิกษุอยู่จำพรรษามีปีละประมาณ ๘๐ รูปสามเณร ๕๐ รูป พ.ศ.๒๕๑๐ สมเด็จพระวันรัตน์ (ปุ่น)วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมวัดละหาร เพื่อทรงปลูกต้นไม้มหาโพธิ

.

ลำดับเจ้าอาวาส

วัดละหารมีเจ้าอาวาสปกครองมาแล้ว ๑๐ รูปด้วยกัน รูปที่๑-๔ (พ.ศ.๒๓๒๙-๒๔๑๘) ไม่ปรากฏนามและประวัติ มีปรากฏ ๗ รูป คือ

  ๑.พระอธิการหอม พ.ศ. ๒๔๑๙-๒๔๓๙
  ๒.พระอธิการต่วน อุตฺตโม         พ.ศ.๒๔๔๐-๒๔๘๐
  ๓.พระครูวินัยธร(มี) เปรียญ พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๓
  ๔.พระครูนนทปรีชา (เปลี่ยน  ชุตินฺธโร) พ.ศ.๒๔๘๔-๒๕๑๔
  ๕.พระครูภัทรนนทคุณ (อ้น ภทฺทสาโร)       พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๒๕
  ๖.พระราชนันทมุนี (สำรวย  อาภากโร)          พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๕๕
  ๗.พระครูสิริธรรมภาณ  (สุเทพ  อภิเทโว)   พ.ศ.๒๕๕๕-ปัจจุบัน

 

Facebook : วัดละหาร - Email : [email protected]
WATLAHAN - COPYRIGHT 2018 - ALL RIGHTS RESERVED